ตอนที่สอง ต่อจากตอนแรก https://kaebmoo.wordpress.com/2011/10/18/google-crisis-response/
Google Crisis Response
มาว่ากันต่อ ชักจะติดลมนิด นิด แต่ไม่รู้จะเขียนได้แค่ไหน ลงไปในรายละเอียดสักนิดว่าเราจะใช้เครื่องมือเหล่านั้นอย่างไร แล้วเราต้องมีอะไรบ้าง เริ่มจาก
- อินเทอร์เน็ต แน่นอนไม่มีไม่ได้ ไม่มีแล้วจะใช้ Google ได้อย่างไร เอะ ก็น้ำมันท่วมระบบสื่อสารก็เสียหาย ไฟฟ้าไม่รู้จะมีหรือไม่ แล้วจะเอาอินเทอร์เน็ตจากไหนละวะ พักเรื่องนี้ไว้ก่อนมาดูข้อต่อไป
- คอมพิวเตอร์ จะเป็น PC เป็น Mac เป็นกระดานชนวนอิเล็กทรอนิกส์ ก็ Tablet นั่นแหละ หรือแม้แต่โทรศัพท์ ขอให้มันเปิด web ได้ก็พอ แต่ไอ้สองอย่างหลังนี่ อาจจะมีข้อจำกัด
- ใช้อินเทอร์เน็ตเป็น และมีความรู้ทางด้านอินเทอร์เน็ตบ้าง ถ้าบอกว่า facebook คืออะไร twitter คืออะไร google maps ใช้อย่างไร แบบนี้สงสัยจะไม่รอด
- ความรู้ทางวิชาชีพ อะ อันนี้ถ้าไม่มีก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้วละครับท่าน นอกเหนือจากนี้ก็ต้องมีความรู้ทางด้านระบบพิกัดภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ สถิติ เป็นต้น
- โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือวิทยุสื่อสารที่สามารถใช้ได้ในกรณีที่เครือข่ายโทรศัพท์ไม่สามารถใช้การได้ โทรศัพท์ถ้าเป็นแบบ smart phone ได้ยิ่งดีโดยเฉพาะรุ่นที่มี GPS ถ้าไม่มีจะมีอุปกรณ์ระบุพิกัดทางภูมิศาสตร์หรือ GPS ต่างหากก็ได้ ซึ่งระบบ GPS นี้จะสามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่สามารถแจ้งระบุตำแหน่งได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น
การระบุตำแหน่งมีความสำคัญอย่างไร สำคัญตรงที่ว่าทำให้ผู้บริหารจัดการสามารถวางแผนในการแก้ไขสถานการณ์ได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น จะเห็นได้ว่าการนำเสนอข่าวหรือการวิเคราะห์ข้อมูลได้มีการนำแผนที่มาใช้ประกอบการอธิบาย รวมถึงการที่หน่วยกู้ภัยที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยก็จะสามารถทราบตำแหน่งของผู้ประสบภัยได้อย่างถูกต้อง เพราะถ้าไม่รู้ตำแหน่งก็คงไปหากันไม่เจอ
ปัจจุบันทราบว่าการระบุตำแหน่งสามารถทำได้ง่ายขึ้น เช่น ข้อมูลของการไฟฟ้ามีการเก็บข้อมูลตำแหน่งของมิเตอร์ไฟฟ้า ดังนั้นเพียงแค่ผู้ประสบภัยแจ้งบ้านเลขที่ หมู่บ้าน ตำบล ก็จะทำให้ทราบตำแหน่งที่อยู่ของผู้แจ้งได้ทันที คำถามมีอยู่ว่าแล้วเราจะเข้าถึงระบบแผนที่หรือ GIS ของการไฟฟ้าได้หรือไม่ คำตอบในภาวะวิกฤตก็ต้องบอกว่าทำได้ยากหรือไม่ได้เลย แล้วเราจะแบ่งปันตำแหน่งเหล่านี้ได้อย่างไร หรืออีกกรณี ถ้าเจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าไปถึงจุดประสบภัยแล้วทราบตำแหน่งพิกัดจากอุปกรณ์ GPS แล้วจะแบ่งปันพิกัดเหล่านี้ให้กับผู้อื่นที่เกี่ยวข้องได้อย่างไร คำตอบก็คือใช้ Google Maps ครับ เราสามารถที่จะสร้างแผนที่ขึ้นมาโดยกำหนดให้เป็นแบบสาธารณะ (public) ในการแก้ไขแผนที่เราสามารถที่จะใช้เครื่องมือคือ การวางตำแหน่ง (placemark) ซึ่งมี icon สัญลักษณ์ให้เลือกตามความเหมาะสม การวาดเส้น (Lines) การวาดเส้นตามถนน และการวาดเส้นล้อมรอบพื้นที่ (Shapes) โดยสามารถกำหนดสีเพื่อระบุความหมายได้ สำหรับการวางตำแหน่งเมื่อเราทราบพิกัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพิกัดของผู้ประสบภัย (ละติจูด ลองติจูด) เราก็สามารถจะกำหนดจุดพิกัดดังกล่าวในแผนที่ได้ทันที
รูปแสดงตัวอย่างแผนที่ ที่สร้างจาก Google Maps
😉
07 09 2018 มาถึงวันนี้ ไม่รู้เรายังมีปัญหาแบบ 2554 อยู่อีกมั้ย